วีซ่า เผยไทยเป็นผู้นำใช้โมบายแบงก์กิ้ง 97% ใช้สัปดาห์ละครั้ง

Spread the love

 

วีซ่าเผยข้อมูลที่น่าสนใจจากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีฉบับล่าสุดของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านความถี่ในการใช้แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

โดยอ้างอิงจากการศึกษาล่าสุดพบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวไทยบอกว่าพวกเขาใช้งานแอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ตามมาด้วยผู้บริโภคชาวเวียดนาม (95%) และชาวอินโดนีเซีย (90%) โดยเฉลี่ยเกือบเก้าในสิบ (89%) ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

 

แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งยังเป็นการทำธุรกรรมออนไลน์ที่คนเลือกใช้มากที่สุดในทุกประเทศที่ทำการสำรวจ โดยประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยตัวเลข 96 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคที่ระบุว่านิยมใช้แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือมากกว่าบริการบนเว็บไซต์ ตามด้วยผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย (95%) และชาวเวียดนาม (92%)

 

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การชำระเงินแบบดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านบัตรคอนแทคเลส สมาร์ทโฟน และการสแกนคิวอาร์โค้ด

 

 

รวมทั้งเรายังเห็นการชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ตั้งแต่ร้านอาหารขนาดย่อมไปจนถึงผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ วีซ่า มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศการชำระเงินเพื่อมอบประสบการณ์การชำระเงินดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ให้แก่ทุกคนในทุกที่ทุกเวลา

 

ยิ่งผู้บริโภคในภูมิภาคใช้จ่ายแบบดิจิทัลมากขึ้นเท่าใด พวกเขาก็พกเงินสดน้อยลงเท่านั้น โดยการศึกษาของวีซ่าระบุว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พกเงินสดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นำโดยชาวเวียดนาม (56%) มาเลเซีย (49%) และไทย (47%)

 

เหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาพกเงินสดน้อยลง คือ ใช้จ่ายผ่านการชำระเงินแบบดิจิทัลในรูปแบบคอนแทคเลส หรือไร้สัมผัสมากขึ้น มีสถานที่รับชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น และกังวลว่าเงินสดจะสูญหายหรือถูกขโมย

 

ในส่วนของเทคโนโลยี Generative AI หรือ Gen AI ก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 75 เปอร์เซ็นต์ เคยได้ยินเกี่ยวกับคอนเซปต์ หรือรู้ว่ามันคืออะไร สำหรับ Gen AI ในบริบทของการให้บริการทางการเงินนั้น

 

หนึ่งในสามของผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (32%) ระบุว่าเคยใช้งาน Gen AI มาแล้ว ขณะที่ 38 เปอร์เซ็นต์รู้จักแต่ไม่เคยใช้งานมาก่อน และหากจำแนกตามกลุ่มผู้บริโภคจะพบว่า ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง (51%) จะคุ้นเคยกับ Gen AI มากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (37%)

 

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจจากการศึกษาฉบับนี้คือ นอกจากอัตราการรับรู้ที่สูงแล้ว บริการที่ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้กำลังมองหาจาก Gen AI ในการทำธุรกรรมมากที่สุดสามอันดับแรก คือ การแจ้งเตือนธุรกรรมที่อาจเกิดการฉ้อโกงหรือตรวจจับการฉ้อโกง (79%) การโต้ตอบกับลูกค้าที่สอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ (73%) และการแนะนำผลิตภัณฑ์ด้านการเงินแบบเฉพาะบุคคล (71%)

 

การชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-time payments หรือ RTP) ก็เป็นอีกทางเลือกที่กำลังแพร่หลายอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยมีผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 76 เปอร์เซ็นต์ รู้จักวิธีการชำระเงินในรูปแบบนี้ และ 47 เปอร์เซ็นต์ เคยใช้บริการโอนเงินแบบเรียลไทม์มาก่อน

 

ประเทศไทยอยู่อันดับแรกของภูมิภาคในด้านความถี่ของการใช้บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ โดย 86 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ตามด้วยเวียดนามที่ 84 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซียที่ 69 เปอร์เซ็นต์

 

แม้การชำระเงินแบบเรียลไทม์จะเป็นที่รู้จักและมีอัตราการยอมรับสูง แต่ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงสงวนท่าทีในการเลือกชำระเงินในรูปแบบนี้โดยข้อกังวลลำดับต้นๆ ที่ทำให้พวกเขาลังเลคือ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (44%) ชอบชำระเงินดิจิทัลรูปแบบอื่นมากกว่า เช่น บัตรเครดิต/ บัตรเดบิต (42%) และขาดความเข้าใจในการใช้งาน (41%)

Scroll to Top