ไปรษณีย์ไทยต่อยอดธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มก่อนมุ่งสู่ไลฟ์สไตล์แบรนด์

Spread the love

 

ธุรกิจของไปรษณีย์ไทย เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความท้าทายอย่างมาก แม้ว่าจะมีเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่เมื่อทุนใหญ่เงินหนาจากต่างชาติเข้ามาแข่งขัน องค์กรแห่งนี้จำเป็นต้องปรับทัพและเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้พร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา

 

ในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลได้ทำให้การค้าออนไลน์และการค้าขายระหว่างประเทศทั่วโลกมีการขยายตัว รวมถึงประเทศไทยที่ปัจจุบันมีการซื้อขายทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ไปรษณีย์ไทยก็ยิ่งต้องมีกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ทันกับคู่แข่ง เพื่อให้สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และเพิ่มรายได้ที่ต้องเติบโตขึ้นในทุกปี

 

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า คาดการณ์ว่าตลอดจนถึงสิ้นปี 2567 ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท จากแรงบวกที่สำคัญนี้ไปรษณีย์ไทยจึงมุ่งที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญผ่านการเป็นแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการขนส่ง

 

เพื่อรองรับและมอบความสะดวกด้านการขนส่งให้กับคนไทย ทั้งในด้านเครือข่าย จุดให้บริการ วิธีการขนส่ง รวมถึงความน่าเชื่อถือของงานบริการที่สอดรับกับข้อกำหนดการขนส่งและการค้าทั่วโลก

 

 

สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ไปรษณีย์ไทยทำรายได้รวม 10,602.30 ล้านบาท มีกำไร 136.60 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศมีรายได้ 1,293.31 ล้านบาท คิดเป็น 12.20% ของรายได้รวม ปลายทางที่ได้รับความนิยมในการส่งระหว่างประเทศ 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย

 

ส่วนสินค้าที่นิยมส่ง คือ เสื้อผ้า ขนมและอาหารแห้ง สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เอกสาร ของสะสม อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ กลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศจะทำรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท โดยบริการเรือธงที่ทำรายได้หลักได้แก่ บริการ EMS World บริการพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ บริการส่งแบบลงทะเบียนระหว่างประเทศ บริการ ePacket

 

“EMS World ส่งด่วน ทั่วโลก” เป็นบริการนี้ได้รับความนิยมสูงสุดของกลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศ ตอบสนองลูกค้าในด้านความรวดเร็วได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังมีศักยภาพที่พร้อมจะรองรับการขนส่งระหว่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้กับหลากหลายธุรกิจ ได้แก่

 

 

เส้นทางการขนส่งที่หลากหลาย ทั้งการขนส่งทางอากาศโดยสายการบินพาณิชย์ ทำให้สินค้าและสิ่งของถึงประเทศปลายทางที่อยู่ไกลได้อย่างรวดเร็ว การขนส่งทางภาคพื้น ไปยังปลายทางประเทศเพื่อนบ้านหรือการค้าชายแดน เช่น สปป.ลาว มาเลเซีย

 

การขนส่งทางราง ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและใช้เส้นทางรางจากไทย – ลาว – จีน ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และการขนส่งทางเรือ มีเส้นทางการขนส่ง อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเส้นทางนี้จะดำเนินการส่งต่อทางรถยนต์ไปยังเมืองปลายทางในทวีปยุโรปจำนวน 10 ปลายทาง เป็นต้น

 

ดร.ดนันท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังได้มีการเสริมสร้างความร่วมมือกับการไปรษณีย์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหภาพสากลไปรษณีย์ Universal Postal Union – UPU การไปรษณีย์สมาชิกอาเซียน ASEANPOST และ ASEANPOST++ (จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) การไปรษณีย์กลุ่ม KPG (Kahala Posts Group) เพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น

 

การดึงพันธมิตรร่วมปิดช่องว่างการขนส่งและนำจ่ายปลายทาง โดยร่วมมือกับกลุ่มผู้รับรวบรวม / บริษัทตัวแทนนำเข้าและส่งออก ซึ่งสามารถขนส่งในลักษณะสินค้า cargo พร้อมด้วยการจัดการเอกสาร Airway Bill และดำเนินพิธีการศุลกากรได้ที่ปลายทาง

 

พร้อมด้วยการนำสิ่งของไปฝากส่งกับผู้ให้บริการนำจ่าย ซึ่งอาจเป็นผู้ให้บริการขนส่งเอกชน รวมทั้งผู้ให้บริการไปรษณีย์ด้วยอัตราค่าบริการในประเทศ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนของการนำจ่ายในประเทศปลายทางถูกลง

 

 

การสร้างพันธมิตรในกลุ่มแพลตฟอร์ม ได้แก่ eBay ซึ่งมีความร่วมมือด้านการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ค้าขายในเอเชียแปซิฟิกผ่านอีเบย์ ซีพาส อีกทั้งยังสนับสนุนผู้ขายไทยด้วยการจัดโปรโมชัน eBay Seller ที่เป็นสมาชิก POST Family ให้ได้รับค่าส่งพิเศษในบริการ ePacket และ EMS World

 

สำหรับปลายทางยอดนิยม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี และ Amazon FBA ที่กำลังพัฒนาบริการสำหรับผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์ที่ต้องการขนส่งข้ามพรมแดน เพื่อนำส่งสินค้าเข้าคลังในต่างประเทศ โดยจะสามารถฝากส่งผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ไทยที่มีครอบคลุมทั่วประเทศภายในไตรมาส 4 ปี 2567 นี้

 

การเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งได้ประสานงานกับพันธมิตรต่างประเทศ และสายการบินในการสร้างเครือข่ายการขนส่งและให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศไปยังปลายทางต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และหาเส้นทางสำหรับปลายทางที่ยังไม่มีบริการเส้นทางบินไป

 

โดยประสานงานกับการไปรษณีย์ที่เป็นประเทศกลางทางเพื่อขอขนส่งผ่าน ทั้งแบบ closed transit และ open transit เพื่อให้มั่นใจว่า ไปรษณีย์ไทยจะสามารถให้บริการและขนส่งด้วยเครือข่ายไปรษณีย์ที่เชื่อมโยงไปทั่วโลก

 

ภาพรวมของการให้บริการส่งระหว่างประเทศของไปรษณีย์ไทยมีจุดแข็งในด้านเครือข่ายในประเทศและระหว่างประเทศที่กว้างไกล ครอบคลุม 205 ปลายทาง 193 ประเทศ สามารถเข้าถึงพื้นที่เฉพาะที่ผู้ให้บริการรายอื่น ๆ อาจยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น พื้นที่เกาะ ภูเขา และปลายทางห่างไกล เช่น อียิปต์ เอสโตเนีย อาร์เจนตินา และประเทศ ที่เป็นเกาะเล็ก ๆ เช่น หมู่เกาะมาร์แชลล์ กวม หมู่เกาะมารีนา ฯลฯ

 

 

นอกจากนี้ จากข้อบังคับเชิงสังคมของสหภาพสากลไปรษณีย์ ทำให้ไปรษณีย์ไทยมีภารกิจในการให้บริการพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (universal postal service) อีกทั้งยังมีความสะดวก ค่าบริการที่จริงใจไม่มีการบวกเพิ่มเติม เช่น Fuel Surcharge ภาษีสนามบิน และยังมีบริการเสริมให้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ ระบบเตรียมจ่าหน้า บริการ Fulfilment บริการฝากส่งแบบรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ระบบ IOSS (ยุโรป) ฯลฯ

 

ไปรษณีย์ไทยมีโปรโมชันเพื่อรองรับการส่งระหว่างประเทศ ได้แก่ ส่วนลด 1- 5% สำหรับสมาชิก POST Family บริการ Courier One Price ส่งด่วนแบบพรีเมียม ฝากส่งเหมาน้ำหนักด้วยกล่องเหมาจ่าย ส่วนลดบริการ Courier Post Document สำหรับกลุ่มลูกค้าบริษัท/ โรงงานอุตสาหกรรม และโปรโมชันพิเศษสำหรับลูกค้าที่มีปริมาณฝากส่งจำนวนมาก

 

สำหรับธุรกิจใหม่การพิจารณายื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank นั้น ต้องรอความชัดเจนหลังเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดในเดือน ส.ค.67 ซึ่งถือว่าเป็นโอกาส ช่องทางการหารายได้ให้กับไปรษณีย์ไทยได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นจากการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ในมือให้มีประสิทธิภาพ เกิดมูลค่าสูงสุด โดยต้นทุนไม่เพิ่มขึ้น

 

รวมไปถึงการเปิดคาเฟ่ของไปรษณีย์ไทยที่ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ และคาดว่าจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ และทั้งสองธุรกิจข้างต้นจะเริ่มเป็นการพัฒนาให้ไปรษณีย์ไทยก้าวไปสู่ไลฟ์สไตล์แบรนด์ ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้นจากการต่อยอดธุรกิจเดิม ซึ่งก็นับว่ามีความน่าสนใจและน่าติดตามมากทีเดียว

 

Scroll to Top