สัมภาษณ์พิเศษ “ITEL” กับแนวคิดการทำธุรกิจที่ “ผู้บริหารต้องอิน”

Spread the love

 

การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี Digital Transformation ด้วยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมายกระดับการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ กลายเป็นความได้เปรียบทางธุรกิจของ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ในการสร้างรายได้และการเติบโต

 

ด้วยจุดแข็งที่มีอยู่อย่างโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ สามารถปรับให้สอดคล้องกับเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเพิ่มบริการใหม่ ๆ ต่อยอดให้กับลูกค้าเดิม เป็นสิ่งที่ทำให้ ITEL สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวคิดที่บรรเจิดของ ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยิ่งเป็นตัวสนับสนุนการก้าวต่อไปของ ITEL ได้อย่างมั่นคง 

 

ณัฐนัย กล่าวว่า นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญทางธุรกิจแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดแข็งที่บริษัทคู่แข่งยากจะเลียนแบบได้ คือความยืดหยุ่นหรือ Flexibility ในการให้บริการกับลูกค้า เน้นใช้ความจริงใจในการทำธุรกิจ ทั้งในเรื่องของการขาย และบริการหลังการขาย

 

อย่างเช่นเราเป็นผู้ดูแลระบบแล้วรู้ว่าระบบของลูกค้ามีปัญหา ก็จะเข้าไปแก้ปัญหาในทันที เพราะเราต้องรู้ก่อนว่าระบบมีปัญหาไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกค้าประสบกับปัญหาแล้วโทรเขามาขอความช่วยเหลือ ITEL มีทีมที่ดูแลในเรื่องนี้ประมาณ 200 คน กระจายอยู่ 38 แห่งทั่วประเทศ มีนโยบายการซ่อมให้สำเร็จภายใน 4 ชั่วโมง

 

“สมมุติว่าลูกค้าที่เชียงใหม่เกิดปัญหา ทีมเซ็นเตอร์โทรแจ้งทีมช่างสองทีม เพื่อให้วิ่งเข้าลูกค้า เพราะไม่รู้ว่าใครถึงก่อน แต่ถ้าใครถึงก่อนก็เข้าซ่อมก่อน ที่ต้องทำวิธีนี้เผื่อทีมใดทีมหนึ่งมีปัญหาระหว่างทางที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเรา ทำให้เราสามารถสร้างแบรนด์ของเราหรือยืนขึ้นมาถึงปัจจุบันได้”

 

ความรวดเร็วในการเข้าซ่อม แม้คนอื่นจะทำได้แต่ก็มีดีเอ็นเอไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องของดีเอ็นเอที่เราปลูกฝังไปในพนักงานทุกคน ดังนั้นเมื่อทุกองค์ประกอบเข้ามารวมกันทำให้ลูกค้ายังคงใช้บริการและมีอัตราการไหลออกของลูกค้าไม่ถึง 1 %

 

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วเราตั้งบริษัท ไม่มีแบรนด์ แต่เราไปให้บริการทางด้านอินฟราสตรัคเจอร์ ซึ่งมันคือหัวใจของบริษัทลูกค้า จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญมาดูแล มันยากกว่าปัจจุบันที่มีแบรนด์อยู่แล้ว

 

สำหรับแผนธุรกิจปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 15-20% หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท จากในปี 2566 กลุ่มบริษัท มีรายได้รวม 2,760 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจหลักของ ITEL ประมาณ 2,800 ล้านบาท บริษัท บลูโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BLUE ธุรกิจติดตั้งระบบเครือข่ายโทรคมนาคมและดิจิทัลโซลูชัน อีกราว 600 ล้านบาท และธุรกิจเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพที่ได้ไปซื้อมาใหม่ ประมาณ 100 ล้านบาท

 

ล่าสุดมี Backlog อยู่ในมือแล้วรวม 2,769 ล้านบาท การเติบโตในทุกธุรกิจ ส่วนหนึ่งมาจากเมืองไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของบริษัทฯ ทำให้สามารถผลักดันยอดขายจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของธุรกิจแบ่งเป็นเอกชนประมาณ 70% ของรายได้รวม ส่วน 30% เป็นภาครัฐ

 

“เดิมคนทั่วไปอาจจะมองว่าเรามีลูกค้าภาครัฐเยอะ แต่ในความจริงแล้วลูกค้าเอกชนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ได้มีการจ่ายค่าบริการเป็นจำนวนมากในครั้งเดียวเหมือนภาครัฐ แต่ก็มีการเซ็นสัญญาการให้บริการกันอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญา 3- 5 ปีเป็นต้น”

 

การทำธุรกิจของไอเทลจะเริ่มจากการขายบริการใดบริการหนึ่งก่อน จากนั้นจะค่อย ๆ นำเสนอบริการที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นอาจจะเริ่มต้นจากการขายดาต้าเซ็นเตอร์ก่อน แล้วค่อยนำเสนอการใช้งานคลาวด์ต่อเนื่องกันไป เป็นเลเยอร์ที่เพิ่มเติม ตามเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

 

“ส่วนการจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ นั้น เราต้องดูว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือต่อยอดให้เราได้หรือไม่ ทุก ๆ ธุรกิจที่เราจะต่อยอดไปคือต้องอิงกับฐานเดิมที่เรามีอยู่ นอกจากนี้ต้องเป็นธุรกิจที่เรา “อิน” คือถ้าไม่ “อิน” เนี่ยผมไม่ซื้อนะครับเพราะฉะนั้นเนี่ยเฮลท์เทคเนี่ยผมอินแล้วผมเชื่อว่าอุปกรณ์มันน้อยอยู่จริง”

 

ล่าสุด ITEL ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์เซอร์วิสเซส จำกัด (GLS) ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่าย และให้บริการอุปกรณ์ทางการแพทย์ ด้วยงบประมาณ 40 ล้านบาท ต่อยอดสู่ Health Technology หวังเสริมฐานให้แข็งแกร่งต่อยอดธุรกิจตามกลยุทธ์ New S-Curve เพื่อเข้าสู่ธุรกิจ Health Tech ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและสอดรับกับแผนธุรกิจในการสร้างรายได้ต่อเนื่องของบริษัทฯ

 

การเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวเนื่องจากมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจพัฒนาเทคโนโลยีทางสาธารณสุขใน ประเทศไทย (Health Technology) เพื่อที่จะยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงกระจายความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท

 

โดย GLS ถือว่าเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการอุปกรณ์ CT Scan / MRI Scan รวมไปถึงอุปกรณ์ ESWL ทั้งนี้ GLS เป็นบริษัทย่อยของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก Sodexo จากประเทศฝรั่งเศส มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจนี้ในไทยมากว่า 27 ปี

 

“เรามองว่าธุรกิจเฮลท์เทคนั้นการเติบโตจะมาจาก การวิเคราะห์ในเรื่องของสุขภาพหรือร่างกายคนที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องจับมือกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทเครื่องมือแพทย์ขนาดใหญ่ของโลก เพื่อเข้าถึงปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพง ทำให้การเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่ดียังไม่มากไม่ทั่วถึงเท่าไหร่”

 

สิ่งเหล่านี้คนในเมืองใหญ่อาจจะไม่รู้สึก เรามีประกันจากบริษัท เราป่วยเราไปหาหมอได้แต่คนที่อยู่ไกลออกไปไม่ได้มีอุปกรณ์แบบนั้น อาจจะต้องไปที่โรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลที่อยู่ในภูมิภาค ปัญหาของประเทศไทยนั้นจำนวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ อันนี้คือโอกาสที่เราคิดว่ามันจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้

 

ในปัจจุบันเครื่องมือต่างๆ มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ ประกอบกับเริ่มมีโรคใหม่ๆ ที่น่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้ามีเทคโนโลยีที่ดีสามารถวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะสามารถนำเสนอบริการต่าง ๆ ได้

 

 

ณัฐนัย กล่าวว่า ในส่วนธุรกิจอื่น ๆ ในปีนี้โอกาสเติบโตอย่างเช่นดาต้าเซอร์วิสซึ่งจะเติบโตตามดิจิทัลทรานฟอร์เมชันที่คนให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องของการเชื่อมต่อข้อมูล วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเชื่อมต่อข้อมูลอยู่ในทุกอณูของชีวิตเราไม่ว่าจะเป็นภาพภาครัฐภาคเอกชนหรือภาคประชาชนทั่วไป

 

พอบริษัทเขาเริ่มทำตรงนี้มากขึ้นให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น ก็จะมีเรื่องของปริมาณข้อมูลที่ใหญ่ขึ้นเพิ่มมากขึ้น เราก็จะได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับในส่วนของบิ๊กดาต้าที่ทุกคนเริ่มรู้สึกแล้วว่าบิ๊กดาต้าสำคัญ จากการใส่ข้อมูลเข้าไปในระบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ ITEL

 

ในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์นั้น ITEL น่าจะเป็นรายแรกที่ทำดาต้าเซ็นเตอร์เรียกว่าสแตนด์อโลนดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งภายหลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 ธุรกิจเริ่มหันมาใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์แบบสแตนอโลนมากขึ้น เราโฟกัสลูกค้ากลุ่มขนาดใหญ่อย่างเช่นธนาคาร กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งการได้รับความนิยมนั้นเนื่องจากข้อมูลของลูกค้าที่มาฝากไว้ที่เราเนี่ยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นข้อมูลที่ไปกระทบลูกค้าของเขาอีกที เพราะฉะนั้นเขาต้องหาคนที่ไว้ใจได้จริงๆ

 

จุดเด่นของดาต้าเซ็นเตอร์แบบสแตนอโลนคือความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า และเราสามารถปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้า ปรับแต่งได้ตามต้องการ ใช้องค์ประกอบต่าง ๆ ได้เป็นของตัวเอง อาทิ อุปกรณ์ไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องไปใช้ส่วนกลางร่วมกับบริษัทอื่น

 

“เราสามารถสร้างให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้อย่างอิสระ เพราะเราเข้าใจว่าลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน นอกจากนี้การใช้ดาต้าเซ็นเตอร์แบบสแตนอโลนจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า”

 

สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีที่น่าสนใจในขณะนี้คือเอไอ ซึ่งในปัจจุบันมีการนำเอไอมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่เรามองว่ายังขาดบุคคลากรทางด้านนี้ ดังนั้นสิ่งที่ ITEL ทำคือการเข้าไปร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทระดับโลกอย่างเอดับบลิวเอส อเมซอน ในการนำเอไอแพลตฟอร์มเข้ามาให้เด็กได้เรียนรู้

 

รวมไปถึงการเข้าไปทำงานกับกระทรวงอว. เพื่อนำเอไอเข้าไปผลักดันในสถานศึกษา เทรนให้เด็กรู้จักเรื่องเอไอและค่อยๆ พัฒนาทักษะเพื่อต่อยอดต่อไป โดยเฉพาะนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์จะเน้นมากหน่อย แต่สำหรับนักศึกษาคณะอื่นก็มีหลักสูตรให้ได้ศึกษาอย่างน้อย 1 คอร์ส เป็นต้น

 

สำหรับทิศทางในการดำเนินธุรกิจของ ITEL นับจากนี้ยังคงเน้นลูกค้าเก่าก่อน คิดเปอร์เซ็นต์แล้วก็หาลูกค้าใหม่ประมาณ 20% ต่อปี เรามองว่าธุรกิจจะยั่งยืนได้คือการรักษาลูกค้าเก่า ซึ่งฐานของรายได้ที่สำคัญเพราะฉะนั้นเราต้องรักษาลูกค้าให้อยู่กับเรามากที่สุด

 

“มาร์เก็ตติ้งในมุมคือผมให้ความสำคัญกับลูกค้าเก่าเพราะฉะนั้นมาร์เก็ตติ้งส่วนใหญ่ที่ทำก็คือการเน้นที่จะรักษาคู่ค้าเก่าให้มีความสัมพันธ์ที่แข็งแรง ส่วนลูกค้าใหม่จะเน้นการเปิดประตูเพื่อให้ได้เจอมากขึ้น สร้างโอกาสในอนาคต จุดที่เราต้องทำให้ได้คือเจอให้เยอะปิดดีลให้ได้อันนี้คือสำคัญ และในอนาคตคือเพิ่มบริการออนท็อปเพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง”

 

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ วันหนึ่งจะมีตัวเก่าที่มันต้องเฟดออกบ้างไหม ณ วันนี้ยังไม่มี แต่อนาคตไม่แน่ เราก็ดูตลาดทุกวัน แต่เราก็มองว่าถ้าเรายังมีศักยภาพในการแข่งขันได้ เราก็เชื่อในศักยภาพการแข่งขัน เราเชื่อในดีเอ็นเอของเรา

 

ทั้งนี้ปัจจุบันยังพอใจกับสัดส่วนรายได้ที่ 70 และ 30 เพราะข้อดีของภาครัฐถึงเงินช้าแต่เงินชัวร์ อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น รวมไปถึงภาครัฐที่เป็นพื้นที่ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้วคนอื่นแย่งยาก อันนี้คือเสน่ห์ และที่สำคัญคือในช่วงโควิดเรายังมีรายได้จากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เอกชนค่อนข้างชะลอตัว

 

ทั้งนี้แม้ว่าการทำธุรกิจต้องเชื่อมโยงกับนโยบายที่เปลี่ยนไปของรัฐบาล แต่ก็เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และเราไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ไม่มีสีใน ITEL และข้อดีของเราคืออยู่ถูกอุตสาหกรรม เพียงแต่ว่าเราจะชนะงานหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ส่วนเรื่องราคานั้นถ้าจำเป็นเราก็ลงไปเล่นด้วย เมื่อจำเป็นเราก็จะสู้ เหมือนคอนเซ็ปต์ประเทศไทยเรา “รักสงบแต่ถึงรบเราก็ไม่ขลาด” เพราะฉะนั้นถ้าคุณมาสู้ราคาผมก็มั่นใจว่าผมจะชนะ ด้วยเหตุผลทางด้านโครงสร้างต้นทุนโครงสร้างอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าแข่งราคาไปจนถึงจุดที่ขาดทุนเราจะไม่ทำ

 

เหตุผลที่ผมไม่ทำเพราะว่าสุดท้ายมันจะทำให้ผมไม่สามารถจริงใจกับลูกค้าได้ คือเมื่อผมขาดทุนสิ่งที่ผมต้องทำเราก็ต้องโกง เราก็ต้องพยายามทำให้เรากำไรเพราะฉะนั้นก็ต้องตัดอะไรบางอย่างที่ควรจะให้เค้าไป อันนี้คือผมก็ไม่ทำนะครับนโยบายไปให้ทีมไว้ว่าถ้าขาดทุนไหมผมไม่คุย แล้วปฏิเสธปฏิเสธไปเลยไม่ต้องเสียดาย และทั้งหมดคือภาพรวมทิศทางธุรกิจของ ITEL

Scroll to Top