สดช. จับมือ DEPA และ 3 มหาวิทยาลัยในโคราช MOU พัฒนากำลังคนดิจิทัล

Spread the love

 

สดช. จับมือ DEPA และ 3 มหาวิทยาลัยในโคราช ลงนาม MOU ด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล มุ่งหวังพัฒนาบุคลากรและคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมร่วมเวทีเสวนา ในหัวข้อ “Digital Korat: The Future Starts Now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” และเชิญชวนคนในพื้นที่โคราชเป็นอาสาสมัครดิจิทัล ตั้งเป้ามียอด 2 ล้านคนภายใน 5 ปี

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและมอบนโยบายการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ภูมิภาค สร้างเศรษฐกิจและสังคมไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมในโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ภายใต้หัวข้อ “Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” หัวข้อ “Digital Korat : The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต”

 

 

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยรองศาสตราจารย์ ดร. โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยรองศาสตราจารย์ ดร. อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยรองศาสตราจารย์ ดร. อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับตัวแทนจากนักเรียน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ร่วมเวทีเสวนา ในหัวข้อ “Digital Korat : The Future Starts Now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต”

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวความคิดในการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสร้างพลังให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนและเกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

 

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันพัฒนากำลังคนดิจิทัลในจังหวัดนครราชสีมา โดยเสริมสร้างความรู้ ทักษะ และความสามารถด้านดิจิทัลให้กับนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา

 

รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัลในสถาบันการศึกษาและชุมชน ให้สามารถนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมและชุมชนได้ ทั้งยังเป็นการผนึกกำลังเพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนในด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัลอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้ สดช. และ depa มีบทบาทและหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากำลังคนดิจิทัลในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการพัฒนาหลักสูตรและโปรแกรมการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวโน้มของอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมและเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับนักศึกษาในพื้นที่

 

“สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ยังได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการในมิติด้านสังคม ซึ่งได้นำโครงการที่สร้างความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วนของสังคม มาร่วมนำเสนอ ประกอบด้วย

 

1. โครงการยกระดับศูนย์ดิจิทัลชุมชน : สาธิต e-Service ของศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2. โครงการการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) : การเรียนรู้และทดสอบระบบด้วยแอปพลิเคชัน อสด. 3. โครงการสำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศ (Digital Literacy : DL) : การทดสอบสมรรถนะด้านดิจิทัล

 

4. บริการดิจิทัลสำหรับผู้พิการ : สาธิตการใช้แอปพลิเคชันสำหรับความพิการทางการได้ยิน (Smart Ear) และการเรียนรู้บัตรคำสามภาษา 5. โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

 

และ 6. ภารกิจด้านกิจการอวกาศแห่งชาติ : จัดแสดงโมเดลดาวเทียม IPSTAR รวมทั้ง สดช. ได้จัดกิจกรรมแนะนำอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) และแอปพลิเคชัน อสด. เพื่อให้เกิดการพัฒนาและขยายเครือข่าย อสด. ซึ่งอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) เหล่านี้ เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีจิตสาธารณะ และมีความสนใจด้านดิจิทัล

 

โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและนำความรู้ที่ได้รับจากแอปพลิเคชันไปสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานดิจิทัล พร้อมทั้งแนะนำบริการและข้อมูลที่ถูกต้องจากภาครัฐ รวมถึงการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวสังคมออนไลน์ และให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยทาง สดช. ตั้งเป้าหมายมีอาสาสมัครดิจิทัลจำนวน 2 ล้านคนจากทั่วประเทศ ภายใน 5 ปีนี้

Scroll to Top