“สกสว.” ระดม 3 บอร์ด ร่วมวางโรดแมปสอดรับ กองทุน ววน.

Spread the love

 

สกสว.ระดม 3 บอร์ด ร่วมวางโรดแมปขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใช้ระบบบูรณาการ – ข้ามศาสตร์สายงาน หนุนการเติบโตภาพใหญ่ของประเทศ

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดพื้นที่เชิญคณะผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการ 3 คณะ ร่วมนำเสนอแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อทบทวนการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้การพัฒนานโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการนําผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการพบปะหารือของคณะกรรมการทั้ง 3 คณะ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการขับเคลื่อน ววน. ของประเทศร่วมกัน ปีนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ กสว. ชุดปัจจุบันได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เป็นคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะมาร่วมกันระดมสมองหาจุดทำความเข้าใจเป้าหมายและองคาพยพที่จะขับเคลื่อน ววน. ร่วมกันระหว่างผู้มีบทบาทสำคัญของวงการ ววน. สำหรับบทบาทของ กสว. อยากรับฟังความคิดเห็นที่จะช่วยกันขับเคลื่อนอย่างไร โดยใน 4-5 ปีข้างหน้า มีเป้าหมายสำคัญหลักๆ อยู่ 5 ประเด็น คือ

 

1. การออกแบบกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสำคัญให้กับประเทศ ควบคู่กับการกำหนดเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เช่น เรื่องพลังงาน PM2.5 ระบบบริการสุขภาพ (ลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุ) ทั้งในมิติด้านวิทยาศาสตร์ ด้านสังคมและด้านอื่น ๆ ด้วยกระบวนการทำงานร่วมกันภายในสำนักงานและพันธมิตร โดยเชื่อมั่นว่าระบบ ววน. สามารถแสดงให้เห็นว่า เรามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ๆ ของประเทศได้ โดยใช้เวลา 2-3 ปีที่จะบรรลุผล และมีหน่วยงานอื่นๆ มาดำเนินการต่อ เป็นการสะสมกำลังทรัพยากรที่มี ด้วยฐานงานวิจัย Fundamental Fund และอาจนำไปสู่ระบบการบริหารจัดการต่อไป

 

2. การออกแบบการขับเคลื่อนระบบการสนับสนุนการวิจัยที่ต่อเนื่อง Multi-year block grant ภายใต้เงื่อนไข และสัดส่วนตามความเหมาะสม สัดส่วนร้อยละ 30-50 ของโครงการ ที่สามารถดำเนินการเกิน 1 ปี 3. การเพิ่มจำนวนบุคลากร ด้านการวิจัยที่เพิ่มขึ้น กสว. จึงมีนโยบายให้มีบุคลากรใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในระบบวิจัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เป็นต้น

 

4. การมีส่วนร่วมขององคาพยพในระบบ ววน. เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การพัฒนาความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในประเทศมีการสนับสนุนร่วมกัน 5. การลดข้อจำกัดในการดำเนินงานของกองทุน ววน. ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การออกแบบวิธีการทำงานสำหรับผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการติดตามความก้าวหน้าให้เห็นผลสัมฤทธิ์ การทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ การขับเคลื่อน multi-year block grant ให้คล่องตัวมากขึ้น

 

นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสร่วมงานกับรัฐบาล และ ววน. ทั้งการเป็นกรรมการที่สภานโยบายฯ และประธานคณะกรรมการติดตามฯ นับเป็นเอกชนรายแรก ๆ ที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ และได้เห็นการทำงานที่ท้าทาย เพราะเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย โดยมองว่าทุกท่านมีความกระตือรือร้นมาก มีมุมมองที่ดีต่อการสร้างกระบวนการทำงานร่วมกัน แต่อาจมีข้อจำกัดบางประการเรื่องของงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ และงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเอกชน

 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีให้ภาครัฐลงทุนด้าน ววน. เพิ่มขึ้น จากการดูงานที่ประเทศสิงค์โปร์ มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนมาก สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ Product Champion ต่าง ๆ ให้ติดอันดับท็อป 4 นวัตกรรมของโลก จึงอยากให้เกิดภาพเช่นเดียวกันกับ ววน. ของไทย สกสว. และทุกภาคส่วนอาจจะต้องช่วยกันส่งเสริมภาคเอกชนให้ช่วยเป็นคานดีดคานงัด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อสร้างผลสัมฤทธิ์ให้กับประเทศ นอกจากเรื่องงบประมาณด้าน ววน. แล้ว ยังมีเรื่องของการสร้างกำลังคนด้าน ววน. ที่ต้องเร่งดำเนินการ และสร้างความเข้าใจต่อความสำคัญ อาจจะเริ่มตั้งแต่ประถมศึกษาให้เด็กชอบและสนใจคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ให้มากขึ้น

 

 

ขณะที่นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานกรรมการอำนวยการ สกสว. กล่าวถึง ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานตามเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ ในการประชุมหารือร่วมกันอาจจะต้องกำหนดเป้าหมายของระบบ ววน. เพิ่มเติม โดยมุ่งความสอดคล้องกับเป้าหมายประเทศ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการขับเคลื่อน ด้วยการมีกติกาของระบบ ววน. และบทบาทของแต่ละคณะที่มีความชัดเจน มองเห็นเป้าหมายที่เป็นไปได้และมีความสอดคล้องกับสิ่งที่จะทำให้สำเร็จ ด้วยการกำหนดผลลัพธ์ของแผนเมื่อดำเนินการแล้ว จะช่วยให้ประเทศมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแท้จริงได้อย่างไร จากจุดนี้จะทำให้การดำเนินงานในภาพรวมของระบบไปต่อได้

 

 

ส่วน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ภาพรวมของการขับเคลื่อนระบบ ววน. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผลสัมฤทธิ์และปัญหาอุปสรรค ของ สกสว. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของกองทุน ววน. ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยการกำกับดูและของคณะกรรมการ กสว.ได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ใน 6 ด้านสำคัญ คือ

 

1. ส่งเสริมการผลิตและพัฒนากำลังคนด้าน ววน. ยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของประทศ 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน.ด้านสุขภาพ และปัจจัยเอื้อที่สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม 3. การส่งเสริมให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศหรือโครงการลงทุนที่รัฐเห็นสมควรกำหนดเป็นกลไกของการพัฒนา ววน. เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

4. การสนับสนุนการเพิ่มสมรรถนะในการเลือก การรับ การถ่ายทอด และการร่วมมือกับบุคคลหรือหน่วยงานต่างประเทศเพื่อให้ได้วิทยาการและเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเหมาะสม 5. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระบบ ววน. หน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาระบบกับชุมชนและพื้นที่ 6. บุกเบิกการวิจัยขั้นแนวหน้าและการสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

นอกจากการนี้ สกสว. ยังได้เตรียมดำเนินการที่สอดคล้องกับโจทย์และความต้องการของประเทศ ตามนโยบายของ กสว. ใน 6 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีกลไกขับเคลื่อนและสร้างความสำเร็จเห็นผลสัมฤทธิ์ ประชาคมวิจัยมีความเชื่อมั่นในระบบ ววน. เน้นการร่วมหารืออย่างต่อเนื่องกับทุกภาคส่วน การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและประชาคมที่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง 2. กำหนดสัดส่วนงบประมาณที่เหมาะสม เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ผสานการสร้างประโยชน์และเสริมสร้างความเข้มแข็ง มีความโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานสร้างความเสมอภาค

 

แม้อยู่ในสภาวะงบประมาณจำกัด มุ่งให้ทุกภาคส่วนที่เป็นการลงทุนของระบบ ววน. ทั้งประชาชน ประเทศ อุตสาหกรรมได้ประโยชน์ และเห็นความสำเร็จของโครงการสำคัญของประเทศ เช่น แก้ปัญหาสภาพแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ สนับสนุนให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น 3. สร้างการเจริญเติบโตและความเสถียรของกองทุน ววน. ด้วยกลไกของการกำหนดทรัพยากรส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่สำคัญ เป็นชุดโครงการขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนทั้งห่วงโซ่อุปทาน อาศัยการมีส่วนร่วม demand side approach เช่น แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ยาและเคมีภัณฑ์ มีวัคซีนเพียงพอ น้ำท่วมน้ำแล้ง โดยระบุระยะเวลาความสำเร็จที่ชัดเจน

 

4.ทำให้เกิดความร่วมมือกับกลไกอื่นของประเทศ เพื่อให้เกิดผลกระทบที่มากขึ้น รวมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการทำแผนการปฏิบัติงานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ครบถ้วน และเหมาะสมทั้งกรอบของกระบวนการ กรอบเวลาที่แน่นอน เพื่อให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง 5. การปรับปรุง/แก้ไข กฎระเบียบสำคัญเพื่อให้มีความคล่องตัวมุ่งเน้นการดำเนินงานเป็นสำคัญ และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 6.มุ่งสร้างการยอมรับให้กับ กองทุน ววน. ให้เป็นที่ประจักษ์ เข้าถึงและจับต้องได้ ด้วยการมีกลยุทธ์การสื่อสารที่ชัดเจน มีการสื่อสารแบบสองทางที่พร้อมตอบคำถามสำคัญ

 

อย่างไรด็ตามที่กล่าวมานี้ ต้องอาศัยการบูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามหน่วยงาน ลดช่องว่างของอุปสรรคการทำงานร่วมกัน โดย สกสว. พร้อมให้การสนับสนุนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืน

Scroll to Top