CRDF Global ร่วมกับ IJC-FOODSEC จัดประชุมระดับภูมิภาค

Spread the love

 

องค์กร Civilian Research and Development Foundation Global (CRDF Global) หน่วยงานภายใต้กำกับของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security: IJC-FOODSEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast (QUB)

 

เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยความปลอดภัยด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก (Regional Workshop on Food Safety and Agricultural Productivity in Southeast Asia and the Pacific) การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองในชุดการประชุมทั้งหมด 3 ครั้ง

 

โดยมุ่งเน้นที่ความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping areas) ระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กิจกรรมหลัก ได้แก่ การอภิปรายที่เกี่ยวกับ Sustained Dialogue on Peaceful Uses (SDPU) Initiative หรือกรอบการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างสันติ

 

ว่าจะสามารถช่วยส่งเสริมโครงการที่ดำเนินอยู่และโครงการใหม่ในการเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีการฉายรังสีและนวัตกรรมนิวเคลียร์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารได้อย่างไร โดยมีผู้แทนหน่วยงานจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และไทย มีผู้เข้าร่วมอบรมจาก 21 ประเทศ 75 องค์กร รวมกว่า 150 คน

 

ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวตอนหนึ่งในช่วงเปิดประชุมว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีศักยภาพที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรมได้รับผลประโยชน์จากการบูรณาการเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ากับระบบการผลิตอาหารโดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์โดยการกลายพันธุ์ (Mutation breeding)

 

สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนต่อโรคและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น สามารถเพิ่มผลผลิตสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มั่นใจได้ถึงผลผลิตด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคนิคการจัดการดินและน้ำที่เหมาะสมผ่านการใช้วิธีการทางนิวเคลียร์ เกษตรกรไทยสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อนุรักษ์น้ำ และเพิ่มผลผลิตพืชผล

 

เนื่องจากการวิจัยด้านความมั่นคงทางอาหารมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไบโอเทค สวทช. จึงได้มีส่วนร่วมจัดตั้งหน่วยงานระดับนานาชาติขึ้นคือ ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) ด้วยเชื่อว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรของประเทศไทย สร้างความยั่งยืน และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมาก

 

ทั้งนี้ IJC-FOODSEC มีส่วนร่วมสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการจัดทำโปรแกรมการประชุมเชิงปฏิบัติการรวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้การบรรยายและอภิปราย หัวข้อการประชุมครอบคลุมเรื่องการปลอมแปลงอาหาร การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ การยืดอายุผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน และการออกแบบโครงการอย่างยั่งยืน เป็นต้น

 

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีการนำเสนอหัวข้อการบรรยายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตรใน 6 ประเด็น ได้แก่ ช่วงที่ 1: ความท้าทายด้านอาหารและชุดเครื่องมือนิวเคลียร์ (Food Challenges and the Nuclear Toolkit) ช่วงที่ 2: เรื่องการทำงานและความสำเร็จที่กำลังดำเนินอยู่ (Ongoing Work and Success Stories)

 

ช่วงที่ 3: เครื่องมือสู่ความสำเร็จ-การใช้งานนิวเคลียร์ในภาคเกษตรกรรม (Tools for Success – Nuclear Applications in Agriculture) ช่วงที่ 4: แนวคิดโครงการโดยวิธีระดมสมองรูปแบบ World Cafe World Cafe – แนวทางในการออกแบบโครงการใหม่ (Project Ideation with a World Cafe – An Approach to Identifying New Projects)

 

ช่วงที่ 5: เส้นทางสู่การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ (Pathways for Support) และช่วงที่ 6: การขับเคลื่อนโครงการและขั้นตอนถัดไป (Mobilizing Projects, Next Steps, and Closing)

 

การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยความปลอดภัยด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกและ Sustained Dialogue on Peaceful Uses (SDPU) Initiative ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา และกรมความมั่นคงทางพลังงานและเน็ตซีโร่ สหราชอาณาจักร (UK Department for Energy Security and Net Zero (DENSZ))

Scroll to Top