Sea (ประเทศไทย) ใช้เกมและอีคอมเมิร์ซเป็นนวัตกรรมทางสังคม

Spread the love

 

Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มอย่าง การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) เผยความสำเร็จด้านความยั่งยืนจาก รายงานกิจกรรมด้านสังคมประจำปี 2565 ชูการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล (Promoting Digital Inclusion) เป็นเป้าหมายหลัก

มุ่งสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกให้กับผู้คนภายในอีโคซิสเต็ม ผ่านการใช้เกมและอีคอมเมิร์ซเป็นนวัตกรรมทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล และการกระจายองค์ความรู้เสริมสร้างทักษะดิจิทัล โดยในปี 2565 Sea Academy ได้นำความรู้ไปสู่คนไทยกว่า 540,000 คน

พร้อมริเริ่มโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Combating Climate Change) รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ราว 1,700 กิโลกรัม และสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้กว่า 13 ล้านบาทบนช้อปปี้

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา Sea (ประเทศไทย) ยังคงสานต่อภารกิจการใช้ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจเพื่อร่วมขับเคลื่อน Digital Nation ในประเทศไทย โดยประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจเกม-อีสปอร์ต และอีคอมเมิร์ซ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนกลุ่มต่าง ๆ ในอีโคซิสเต็ม

ภายใต้ 2 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ‘การใช้เกมเพื่อพัฒนาการศึกษา’ เติมเต็มโลกการเรียนรู้เพื่อเยาวชน คนรุ่นใหม่ และบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล

และ 2. ‘การใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อการพัฒนาสังคมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล’ สร้างการเข้าถึงโอกาสและการสร้างรายได้ให้คนหลากหลายกลุ่มที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำ ทั้ง SMEs ท้องถิ่น ผู้ประกอบการหญิง เยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ผู้สูงวัย และผู้พิการ ผ่านการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการและการร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพที่มีความต้องการสูงในอนาคต เป็นอาชีพที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น การีนา (ประเทศไทย) จึงใช้เกมและอีสปอร์ตที่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ ในการเปิดประสบการณ์ให้เยาวชนได้สัมผัสกับวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานจริง

Garena Academy เป็นโครงการเรือธงในการใช้เกมเป็นนวัตกรรมการศึกษา โดยเริ่มต้นในปี 2563 จากการให้ความรู้อาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ตผ่านเว็บไซต์และเวิร์คช้อป ใช้เกมเป็นสะพานพาคนร่นใหม่ไปสู่การพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของยุคดิจิทัล

โดยเว็บไซต์ Garena Academy สามารถนำเนื้อหาความรู้ไปสู่ผู้คนได้กว่า 1.5 ล้านคน ในปัจจุบัน ทั้งยังมีการต่อยอดไปสู่โครงการย่อยต่าง ๆ ได้แก่ โครงการ Learning Arena ที่ช่วยให้บุคลากรทางการศึกษากว่า 500 คนทั่วประเทศไทย สามารถใช้กลไกเกมเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนได้สำเร็จ และเข้าถึงนักเรียนได้กว่า 15,000 คน

ส่วนโครงการห้องเรียนอีสปอร์ต (Esports Classroom) ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนรู้อาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ตจากการลงมือปฏิบัติจริงและจัดการแข่งขันอีสปอร์ตภายในโรงเรียน อีกทั้งยังกระตุ้นให้นักเรียนพัฒนาทักษะสำคัญในโลกการทำงานและการศึกษาระดับสูงผ่านตัวกลางที่สอดคล้องกับความสนใจของตน

โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการราว 250 คนจาก 8 โรงเรียนนำร่อง ทั้งยังมีการฝึกอบรมพัฒนาเกมเมอร์รุ่นใหม่สู่การเป็นนักเขียนโปรแกรมบนความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ อย่างโครงการ Gamer to Coder ซึ่งมีนักเรียนระดับมัธยมปลายและอาชีวะจากทั่วประเทศไทยร่วมฝึกอบรมในโครงการฯ จำนวนกว่า 1,500 คน

ช้อปปี้ (ประเทศไทย) ร่วมกับพันธมิตร อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน), กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, Young Happy และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ใช้อีคอมเมิร์ซเป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคม สนับสนุนกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ

อาทิ ผู้ประกอบการผู้หญิง เยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ผู้สูงวัย และผู้พิการ ตั้งแต่การพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ การให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และการสนับสนุนทางการตลาด ผ่านโครงการมากมาย

ได้แก่ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการหญิง Women Made, โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสำหรับเยาวชน Equity Partnerships, โครงการอัปสกิลวัยเกษียณ สู่ผู้ประกอบการวัยเก๋า และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อผู้พิการ Shopee Together We Grow

จากผู้ร่วมโครงการทั้งหมด 100% ของผู้ประกอบการหญิง และ 96.9% ของผู้ประกอบการวัยเกษียณ ระบุว่าได้รับทักษะใหม่ และมีความมั่นใจในการนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง ส่วนนักเรียนที่ร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเยาวชน สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่า 300,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุน SMEs ไทยหลากหลายรูปแบบ อาทิ ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะกลุ่มผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรมบนแพลตฟอร์มช้อปปี้

ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจำนวน 20 รายที่ดำเนินธุรกิจด้วย BCG Model ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อบ่มเพาะสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงลึกบุกตลาดเสรีด้วย FTA และกระตุ้นยอดขายในต่างประเทศผ่านโปรแกรม Shopee International Platform (SIP)

ส่งเสริม SMEs ท้องถิ่น ให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนในโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านความร่วมกับภาครัฐ อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ส่งเสริม SMEs ให้เข้าถึงโอกาสในตลาดต่างประเทศ ที่มีมูลค่า 300 ล้านบาท

Shopee Food ยังมุ่งสนับสนุนร้านอาหารรายย่อย โดยมีผู้ค้าอาหารมากกว่า 3,200 รายเข้าร่วมโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหาร และได้รับคำสั่งซื้อจำนวนกว่า 20,000 รายการ

การกระจายองค์ความรู้ผ่าน Sea Academy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกระจายความรู้และพัฒนาทักษะดิจิทัล ยังสามารถเข้าถึงผู้คนได้กว่า 540,000 คน ในปี 2565 ด้วยเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของคนไทย

นอกจากนี้ จากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ร่วมกับพันธมิตร ทำให้พบว่ามีกลุ่มเยาวชนและโรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนรู้อย่างคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นอุปรณ์การเรียน­­­­รู้ที่จำเป็นในยุตดิจิทัล จึงมีการส่งมอบแล็ปท็อปกว่า 100 เครื่อง เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนมีอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ครบครันมากขึ้น

นอกจากความยั่งยืนด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล (Promoting Digital Inclusion) แล้ว Sea (ประเทศไทย) ยังให้ความสำคัญกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Combating Climate Change) ริเริ่มโครงการรีไซเคิลและอัพไซเคิลบรรจุภัณฑ์ โดยสามารถนำบรรจุภัณฑ์เข้าร่วมโครงการได้ 1,700 กิโลกรัม

สนับสนุนแบรนด์และร้านค้าบนช้อปปี้ที่มีการดำเนินธุรกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมผ่านแคมเปญ Shop Green with Shopee โดยแบรนด์และร้านค้าเหล่านี้ สามารถสร้างรายได้จากแคมเปญฯ ได้มากกว่า 13 ล้านบาท ทั้งยังร่วมปลูกต้นไม้กว่า 1,000 ต้นในกรุงเทพฯ และน่าน เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศและฟื้นฟูป่า

ด้านการีนา มีการออกแบบและพัฒนาเกม Free Fire อย่างใส่ใจต่อความต้องการของผู้เล่น รวมถึงใช้แนวทางสร้างความยั่งยืนตั้งแต่แรกเริ่ม โดยใช้กราฟิกและแอนิเมชั่นที่ใช้พลังงานต่ำ และปรับโค้ดของเกมให้เหมาะสมเพื่อลดการใช้พลังงาน

“Sea (ประเทศไทย) เชื่อในพลังของเทคโนโลยี ว่าจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ เราจะยังคงยึดมั่นในพันธกิจของเราในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ส่งเสริม SME ไทย และจะเดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อร่วมสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต่อไป”

Scroll to Top