ETDA ประกาศผล “Boosting Craft Idea” ทีมตัวตึง spu ม.ศรีปทุม ชนะเลิศ

Spread the love

 

ETDA จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ Final Pitching กับกิจกรรม “Boosting Craft Idea รวมพล คนดิจิทัล ระเบิดไอเดีย เพื่อสังคม” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน ที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางดิจิทัล (Digital Commerce) ไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนของไทย

 

จากการแข่งขันสุดเข้มข้น ในที่สุด ทีมตัวตึง spu จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เจ้าของผลงานเจ้าของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบวงจร คว้ารางวัลชนะเลิศ

 

นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่า ETDA ได้ดำเนินโครงการ ETDA Local Digital Coach หรือ ELDC ที่มุ่งพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ให้มีความรู้และทักษะดิจิทัล รวมถึงการทำ e-Commerce ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มเป้าหมายของ ELDC จะเป็นนักเรียน นักศึกษา บัณฑิตที่เพิ่งจบใหม่ ประชาชนที่สนใจ

 

โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของทุกปี ทาง ELDC ได้จัดเวทีให้ทางโค้ชดิจิทัลชุมชนได้มีโอกาสมาแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจออนไลน์เพื่อยกระดับชุมชน (Local Business Pitching) ซึ่งปีนี้มาในหัวข้อ “Craft Idea 3 คั้นโค้ช คัดคนคุณภาพ เฟ้นไอเดีย ธุรกิจชุมชนออนไลน์”

 

จากการเปิดรับสมัครและได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 4 ภูมิภาค ทำให้วันนี้เราได้ 12 ทีมสุดท้ายจากทั่วประเทศ ซึ่งจะมาประลองไอเดียกันอย่างเข้มข้น เพื่อเฟ้นหาสุดยอดโมเดลแผนธุรกิจ อีคอมเมิร์ซชุมชน ในรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) ในงาน “Boosting Craft Idea รวมพล คนดิจิทัล ระเบิดไอเดีย

 

สำหรับรอบชิงชนะเลิศ ทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบจะต้องเข้าสู่การแข่งขันในรูปแบบ Pitching ภายใต้โจทย์การแข่งขัน “ธุรกิจออนไลน์..พาชุมชน สร้างคุณค่า สู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)” ได้มีโอกาสนำเสนอแผนไอเดียธุรกิจที่ได้พัฒนาขึ้นมาเสนอต่อเหล่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยทุกทีมมีเวลาในการนำเสนอแนวคิดและผลงานทีมละ 8 นาที ก่อนเข้าสู่ช่วงตอบคำถามสุดท้าทายจากคณะกรรมการ ทีมละ 5 นาที

 

สำหรับเกณฑ์ในการแข่งขันจะครอบคลุมทั้งในประเด็นความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ (Business Model) ความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่น แนวทางการทำการตลาดดิจิทัลตลอดจนการเลือกใช้เครื่องมือในการโปรโมทหรือสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ที่มุ่งเน้นให้สามารถนำไปต่อยอดกับชุมชนได้จริง

 

นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญของการพิจารณาคือการมีแผนธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม หรือนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาสังคมได้ (Social Enterprise) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ที่เพิ่มเติมมาสำหรับปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งหลังจากที่คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาและลงคะแนนตัดสินในที่สุด

 

เราก็ได้ทีมที่ได้รับ รางวัลชนะเลิศ “Boosting Craft Idea รวมพล คนดิจิทัล ระเบิดไอเดีย เพื่อสังคม” ได้แก่ ทีมตัวตึง spu จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เจ้าของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบวงจร ของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร

 

รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม The Winner จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ “กาแฟเขาวังชิง”ภายใต้แนว “จากต้นสู่แก้ว” รับเงินรางวัล 50,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร

 

รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม TTU Lanna จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของแผน TTU Umbrella ร่มล้านนาผ้ามัดย้อมจากใบชา ที่เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนชาและสมุนไพรบ้านเด่นหลวงและวิสาหกิจชุมชนโคมลอยบ้านหนองโค้ง จ.เชียงใหม่ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบโล่รางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศจากอีกกิจกรรมที่มีการจัดไปแล้วก่อนหน้านี้ นั่นคือ กิจกรรม EDC Pitching “Digital in Hand จุดแคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์” ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมาด้วย เพื่อเป็นการร่วมฉลองความสำเร็จให้กับกิจกรรมดี ๆ ไปด้วยกัน

Scroll to Top