สกสว. ดันสถาบันสู่ “Technology and Innovation Park”

Spread the love

 

“สกสว. – มทร.สุวรรณภูมิ” หนุนผลักดันสถาบันสู่ “Technology and Innovation Park” พร้อมปรับแนวทางสนับสนุนงบฯ ภาคอุดมศึกษา 

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและทำความเข้าใจการบริหารจัดการแผนงานและงบประมาณที่นำไปสู่การประเมินศักยภาพของหน่วยงาน โดยมีคณะผู้บริหารและนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการแผนงานและโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทุนสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) เพื่อให้ได้แนวทางการบริหารงานวิจัยที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผล

 

รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการหารือ และนำเสนอระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณทุนสนับสนุนงานมูลฐาน หรือ Fundamental Fund: FF ซึ่งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. จัดสรรงบประมาณแบบ Block Grant โดยใช้ข้อมูลผลการดำเนินงานในอดีตของหน่วยรับงบประมาณ และศักยภาพของหน่วยรับงบประมาณเป็นหลักในการพิจารณา

 

วัตถุประสงค์หลักของ FF เพื่อพัฒนาศักยภาพด้าน ววน. ของหน่วยรับงบประมาณให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงสนับสนุนงาน FF ที่ครอบคลุมกิจกรรมตามพันธกิจของหน่วยงานและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ววน. โดยผลที่คาดว่าจะได้รับของแผนและการลงทุนด้าน ววน. ในปี 2570 ที่สำคัญ 2 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านความสามารถในการแข่งขัน คือ ประเทศไทยมีอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ที่สูงขึ้น อยู่ใน 35 อันดับแรก และมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ อันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ที่สูงขึ้น อยู่ใน 35 อันดับแรก

 

 

ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐได้ และกำหนดหน่วยงาน วิธีการส่งเสริมและการจัดสรรเงินค่าตอบแทนแก่นักวิจัย เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยยกระดับงานวิจัยและเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัยในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

 

ผศ. ดร.ภาสพิรุฬห์ วัชรศรีสําเริง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ระบุว่า มหาวิทยาลัยฯ วางเป้าหมายในการเป็น Technology and Innovation Park โดยได้กำหนดกรอบการวิจัยด้าน ววน. 2566-2570 จำนวน 7 แผนงาน ประกอบด้วย 1. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งหุ่นยนตร์และระบบอัตโนมัติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

3. การวิจัยและพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบราง อุตสาหกรรมเป้าหมายให้ได้มาตรฐานสากล 4. การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายด้านเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 5. การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมผู้สูงวัย 6. การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และ 7. การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยของมหาวิทยาลัย

 

นอกจากนี้ คณะผู้บริหาร สกสว. ยังได้มีการหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการงานวิจัย รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุน ววน. ร่วมกับ ผศ.ดร.ภาสพิรุฬห์ วัชรศรีสําเริง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ผศ.ดร.วารุณี ศรีสงคราม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา

 

 

และเยี่ยมชมการนำเสนอผลผลิตงานวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน ววน. อาทิ โครงการการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในระบบน้ำสะอาดโดยใช้เทคนิคไบโอฟลอคเพื่อเป็นแนวทางลดต้นทุนภายใต้ระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการการจัดการและควบคุมสภาวะแวดล้อมพื้นที่ปลูกด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ภายใต้โครงการการพัฒนาศูนย์ต้นแบบเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา มทร.สุวรรณภูมิ

 

โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อแพะและนมแพะเพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โครงการการพัฒนาศักยภาพชุมชนนวัตวิถีรองรับการท่องเที่ยวแบบปกติใหม่ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในพื้นที่ภาคกลาง เป็นต้น รวมถึงเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานและห้องปฏิบัติการด้านเกษตรและอาหารปลอดภัย และศูนย์วิศวกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมการผลิต

 

การหารือร่วมกันระหว่าง สกสว. และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ นับเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนการบริหารจัดการ รวมถึงปัญหา อุปสรรคในการดำเนินโครงการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้แนวทางการบริหารงานวิจัยที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป

Scroll to Top