NIA จับมือ สำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล “แปรรูปขยะพลาสติก”

Spread the love

 

NIA จับมือสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล โชว์นวัตกรรมแปรรูปขยะพลาสติก สู่น้ำมันแนฟทา พร้อมเดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือ 2 บริษัทนวัตกรรมไทย-อิสราเอล

 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า มุ่งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเร่งสร้างโอกาสการเติบโตให้กับผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรม จึงได้ดำเนิน โครงการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมขึ้น

 

 

โดยร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล หรือ IIA พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมในสาขาธุรกิจที่มีความสนใจร่วมกันระหว่างสองประเทศ โดยโครงการรีไซเคิลขยะพลาสติกผสมพีวีซีด้วยกระบวนการซูปเปอร์ออกไซด์เพื่อผลิตน้ำมันแนฟทาสำหรับอุตสาหกรรมเคมี ระหว่างบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พลาสติกแบ๊ค ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่มีการนำนวัตกรรมจากอิสราเอลมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยนับตั้งแต่มีการลงนามความร่วมมือ (MoU) ด้านนวัตกรรมในปี 2561

 

นอกจากจะสามารถนำน้ำมันแนฟทาจากกระบวนการรีไซเคิลทางเคมีมาใช้เป็นสารตั้งต้นในโรงงานอุตสาหกรรมหรือขายทดแทนแนฟทาจากฟอสซิลที่ปัจจุบันมีราคาขายประมาณ 550 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้สารตั้งต้นในกลุ่มฟอสซิลให้แก่โรงงานปิโตรเคมี และเพิ่มอัตราส่วนของผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ (Green polymer) ได้อีกด้วย

 

 

ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า อิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นมา ทั้งการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ท้าทาย อิสราเอลจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยกระดับศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ และความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี รวมถึงพัฒนางานวิจัยที่ก้าวหน้าและมีคุณภาพ

 

พร้อมทั้งสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและเป็นเอกลักษณ์ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ สถาบันการศึกษา บริษัทข้ามชาติ กองกำลังป้องกันอิสราเอล และการระดมทุนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิสราเอลได้เปลี่ยนจากการเป็นประเทศแห่งสตาร์ทอัพไปสู่การเป็นประเทศแห่งยูนิคอร์น โดยมีบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบ 100 แห่ง

 

เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสำเร็จของความร่วมมือแรกที่เกิดขึ้นจากการลงนามความร่วมมือ (MoU) ระหว่าง NIA และ IIA โดยเป็นโครงการนำร่องจากบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทพลาสติกแบ๊ค ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการลดปริมาณขยะพลาสติกด้วยเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทพลาสติกแบ๊ค โครงการนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และเราเชื่อมั่นว่าจะมีโครงการที่ประสบความสำเร็จอีกมากมายตามมาในอนาคต การรวมตัวกันระหว่างสตาร์ทอัพของอิสราเอลและบริษัทใหญ่ในประเทศไทยครั้งนี้ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศได้อย่างแน่นอน

 

 

อาวี่ ลุฟตัน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แผนกความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล หรือ IIA กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของอิสราเอล IIA จึงเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเครื่องมือและแพลตฟอร์มการระดมทุนที่หลากหลาย เพื่อรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของระบบนิเวศนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น บริษัทที่พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตใหม่ๆ กลุ่มนักวิชาการที่ต้องการถ่ายทอดแนวคิดสู่ตลาด

 

บริษัทข้ามชาติที่สนใจร่วมมือกับเทคโนโลยีของอิสราเอล บริษัทอิสราเอลที่ต้องการหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ และโรงงานแบบดั้งเดิมที่ต้องการผสานนวัตกรรมและการผลิตขั้นสูงเข้าสู่ธุรกิจของตน ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นหนึ่งในงานที่ IIA ให้ความสำคัญ โดย IIA จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระดับนานาชาติ จับคู่พันธมิตรในต่างประเทศให้กับอิสราเอล เพื่อช่วยค้นหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลหรือธุรกิจ ความร่วมมืออิสราเอล-ไทยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นโครงการนวัตกรรมการรีไซเคิลขยะพลาสติกผสมพีวีซีของระหว่างทั้ง 2 บริษัท ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่น่าจับตามอง

 

 

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า เทคโนโลยีรีไซเคิลของบริษัทพลาสติกแบค สามารถนำพลาสติกชนิดพีวีซีใช้แล้ว กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอัตราการรีไซเคิลได้เกือบ 100% ทำให้พลาสติกใช้แล้วที่มีส่วนผสมของพีวีซีที่กำจัดด้วยกระบวนการทั่วไปได้ยาก สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีนี้ยังสามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งแบบยูนิตเดี่ยวสำหรับติดตั้งโรงงานขนาดเล็ก จนถึงการรีไซเคิลปริมาณมากในระดับอุตสาหกรรม

 

โดย SCGC มีแผนทดลองใช้เทคโนโลยีนี้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย เพื่อวิจัยหาสภาวะที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตน้ำมันสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี โดยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามแนวทางของ SCGC ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมรักษ์โลก ตามแนวทาง Low Waste, Low Carbon เพื่อมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

 

ตัล โคเหน ประธานบริษัทพลาสติกแบ๊ค กล่าวว่า การรีไซเคิลพลาสติกพีวีซีถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ ความร่วมมือกับเอสซีจีซี เคมิคอลส์ ครั้งนี้ช่วยให้เราสามารถปิดวงจรการอัปไซเคิลของขยะพีวีซีที่ยากต่อการจัดการได้ และเรายังคงมุ่งหวังจะสร้างความร่วมมือกับเอสซีจีซี เคมิคอลส์ ต่อไปในอนาคต สุดท้ายนี้ การสนับสนุนจาก NIA และIIA เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถรวบรวมนวัตกรรม ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และทรัพยากรอื่นๆ มาสร้างให้เกิดความร่วมมือได้

Scroll to Top