สภาเกษตรกรแห่งชาติถอดบทเรียนการจัดการการเลือกตั้ง

Spread the love

 

พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๘ กำหนดให้สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา ทำให้สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติจะต้องดำเนินการเพื่อจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติทุกสี่ปี

 

การดำเนินการจัดการการเลือกตั้งครั้งนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ตามที่กำหนดในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

 

ได้สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศทั้งสิ้นจำนวน ๑,๗๓๓ คน แยกเป็นภาคเหนือ ๑๗ จังหวัดสมาชิกจำนวน ๓๖๘ คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๐ จังหวัด สมาชิกจำนวน ๔๘๑ คน ภาคกลาง ๒๖ จังหวัด สมาชิกจำนวน ๕๘๐ คน และภาคใต้ ๑๔ จังหวัด สมาชิกจำนวน ๓๐๔ คน และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติจำนวน ๑๐๐ คน

 

ประกอบด้วยประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจำนวน ๗๗ คน ตัวแทนองค์กรเกษตรกรจำนวน ๑๖ คน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๗ คน จากการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติในครั้งนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินการเป็นครั้งแรก

 

จึงจำเป็นต้องมีการสรุปถอดบทเรียน เพื่อนำบทเรียนจากการจัดการการเลือกตั้งครั้งนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการจัดการการเลือกตั้งฯ ในครั้งต่อไป และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำรายงานผลการดำเนินการจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปี ๒๕๖๖ ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการอนุมัติ

 

ประกอบกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดในครั้งนี้ผู้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นสมาชิกรายใหม่ประมาณร้อยละเจ็ดสิบของสมาชิกทั้งหมด จึงจำเป็นต้องสร้างการรับรู้อำนาจหน้าที่และบทบาทของสภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติ รวมถึงการเชื่อมโยงการดำเนินงานของสภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๓

 

อันนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่ได้ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และเป็นไปตามความคาดหวังของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรที่ต้องการให้ภาคการเกษตร มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้อย่างสมศักดิ์ศรี ดังนั้น สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติจึงจัดทำโครงการบูรณาการความร่วมมือจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ

 

กิจกรรม : การถอดบทเรียนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืน ภายใต้บริบทบทบาทสภาเกษตรกรแห่งชาติ กรณี ๔ ภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืนภายใต้บริบทบทบาทสภาเกษตรกรแห่งชาติ

 

สำหรับกรณี “ภาคใต้” นั้น จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ แอนด์สปา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า ๔๐๐ คน ประกอบด้วย ๑) สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ภาคใต้ ๑๔ จังหวัด ๒) สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติประเภทตัวแทนองค์กรเกษตรกร

 

๓) สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ๔) หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดภาคใต้ ๕) หัวหน้าส่วนและหัวหน้าฝ่ายสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ๖) ผู้บริหารและผู้อำนวยการกอง สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ๗) ผู้บริหารสภาเกษตรกรแห่งชาติ ๘) ส่วนราชการเครือข่ายที่ช่วยเหลือสนับสนุนการจัดการการเลือกตั้งฯ ในจังหวัดสงขลา ๙) เกษตรกรเครือข่ายในจังหวัดสงขลา

 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อคิดเห็นในกิจกรรมและประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย ๑. การเสวนาในหัวข้อ “มุมมองการจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปี ๒๕๖๖ ของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

 

๒. การบรรยายพิเศษ หัวข้อ ๒.๑) “การขับเคลื่อนงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติให้เป็นองค์กรของเกษตรกร เพื่อสะท้อนปัญหา รักษาและคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง” ๒.๒) “การขับเคลื่อนงาน สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติให้สอดคล้องกับบริบทของสภาเกษตรกรแห่งชาติในการทำหน้าที่เป็นองค์กรของเกษตรกร” ๒.๓) “การปฏิบัติงานของสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติชุดใหม่”

 

๓. การอภิปรายแสดงความคิดเห็น หัวข้อที่ ๑ “มุมมองจากอดีต สู่ปัจจุบัน ในการจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของสภาเกษตรกรแห่งชาติ” หัวข้อที่ ๒ “การทำงานเป็นทีม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานสภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการทำหน้าที่เป็นองค์กรของเกษตรกรเพื่อเกษตรกร”

 

๔. การแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น (ตามกลุ่มจังหวัด) โดยแต่ละกลุ่มเลือกประธานกลุ่ม และเลขานุการกลุ่มในการดำเนินการ พร้อมเตรียมการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็น ในหัวข้อ “การการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ ถอดบทเรียนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปี ๒๕๖๖” ๕. อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ๖. การประเมินผลโครงการฯ

 

จากการรับฟังและเก็บข้อมูลการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น สามารถแยกประเด็นปัญหาออกเป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วย งบประมาณ/การเบิกจ่าย การสื่อสาร/ประชาสัมพันธ์ ข้อกฎหมาย/ระเบียบข้อบังคับ องค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งถือว่าโครงการประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถนำประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ได้ในครั้งนี้ รวมกับอีก ๓ ภาคที่จัดเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น นำไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการจัดการการเลือกตั้งฯ ในครั้งต่อไป

Scroll to Top