ETDA เผย 3 ทีมที่คว้ารางวัล จาก EDC Pitching

Spread the love

 

ปิดฉากกิจกรรม EDC Pitching (ETDA Digital Citizen Pitching) ปีแรกกับการแข่งขันในหัวข้อ “Digital in Hand แคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์” ที่จัดโดย สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA

 

พร้อมด้วยเหล่าพาร์ตเนอร์ทั้งมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท และบริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (Dek-D) เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจ มีไอเดีย ไม่จำกัดอายุ และการศึกษา

 

ร่วมสร้างสรรค์แคมเปญที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับหลักสูตร EDC (ETDA Digital Citizen) และยังช่วยตอบโจทย์ในการช่วยสร้างความตระหนักรู้และป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม

 

เพื่อให้คนไทยเกิดการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน สู่การต่อยอดขยายผลของเครือข่ายความร่วมมือ ในการส่งต่อความรู้สู่สังคมร่วมกับ ETDA และพาร์ตเนอร์ ในการร่วมสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพแบบเชิงรุก เพื่อการขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศมากยิ่งขึ้น

 

ในที่สุดเราก็ได้ทีมผู้ชนะทั้ง 3 ทีม ที่มีไอเดียสุดสร้างสรรค์และโดนใจกรรมการ ทีมชนะเลิศ คือ “ทีมไม่เลือกเวลาทำงาน” จากผลงาน แคมเปญ “Too Cool to Be Fooled เจ๋ง เกินกว่าจะ เจ๊ง” และอันดับ 2 คือ ทีม Powerpoint Girls จากผลงานแคมเปญ “ออนไลน์เมื่อพร้อม”

 

และอันดับ 3 คือ ทีมสิทธิวิไล แฟมมิลี่ จากผลงานแคมเปญ “เกมกลเม็ดแก้เผ็ดภัยลงทุนออนไลน์” แต่ละทีมมีจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์แต่ละแคมเปญอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปเปิดมุมมองและหาคำตอบพร้อมกัน

 

ทีม “ไม่เลือกเวลาทำงาน” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ อย่าง นางสาวธัญชนก ทั้วสุภาพ นายปกรณ์ นาวาจะ และ นายรณชัย คำปิน ที่ได้มองเห็นปัญหาของการที่คนไทยถูกหลอกทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นรายวัน แต่เลือกที่จะไม่ไปแจ้งความ เพราะกลัวเสียเวลาและการแจ้งความมีกระบวนการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน

 

กว่าจะเล่าเรื่องราวให้เจ้าหน้าที่เข้าใจก็ใช้เวลานานและต้องเล่าหลาย ๆ รอบ โดยเฉพาะหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ที่อยู่ในยุคดิจิทัลอาจมองว่าตนเองมีความรู้แล้ว พอถูกหลอกออนไลน์ ก็ไม่กล้าออกมาบอกว่าตนเองคือ เหยื่อที่ถูกโกง เพราะกลัวว่าจะถูกตัดสินว่า ทำไมถึงไม่รู้ และมีความเชื่อลึกๆ ในใจว่า “เราเจ๋ง” เกินกว่าจะบอกคนอื่นว่า “เราเจ๊ง”

 

เลยเลือกไม่ไปแจ้งความ จนนำมาสู่การสร้างสรรค์เกิดเป็นแคมเปญ “Too Cool to Be Fooled เจ๋ง เกินกว่าจะ เจ๊ง” แคมเปญสื่อสารความรู้ ในรูปแบบการจัดนิทรรศการแบบ Interactive Exhibition ที่มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการพาทุกคนไปสัมผัสกับการ “เจ๊ง” จากการถูกหลอก เพื่อวัด “ความเจ๋ง” ของแต่ละคน

 

ผ่านการจำลองสถานการณ์ในพื้นที่นิทรรศการ ที่จัดขึ้นบนพื้นที่จริงและออกแบบให้ผู้เข้าชมมีประสบการณ์ถูกหลอก แล้วท้าทายว่าเมื่อถูกกลโกงจากหลากหลายรูปแบบ รวมถึงจากธุรกรรมออนไลน์ จะสามารถเอาตัวรอดได้หรือไม่ และถ้าถูกโกง เลือกที่จะเป็นกลุ่มไปแจ้งความ หรือไม่แจ้งความ

 

แต่ละการตัดสินใจจะแสดงผลออกมาเป็นตัวเลขของความเสียหาย หรือ เงินที่ถูกโกงบนหน้าจอทันที ภายใต้แคมเปญนี้แบ่งนิทรรศการออกเป็น 3 โซน ครอบคลุมกลโกงออนไลน์ที่มาแรงในยุคนี้ ได้แก่ ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์ ภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการถูกหลอกลงทุน เป็นต้น

 

โดยทีม “ไม่เลือกเวลาทำงาน” มีการวางแผนที่น่าสนใจและมีความตั้งใจว่าหากเป็นไปได้ อยากจะไปจัดนิทรรศการนี้ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ (Bangkok Design Week) เพราะจากตัวเลขผู้เข้าชมงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สูงถึง 1.7 ล้านคน และส่วนใหญ่อายุ 18-30 ปี เป็นกลุ่มที่มีการท่องโลกออนไลน์และมีโอกาสตกเป็นเหยื่อมากเป็นอันดับต้น ๆ

 

ดังนั้น หากทีมไปจัดนิทรรศการที่งานนี้ได้ นั่นเท่ากับว่า พวกเขาจะมีโอกาสในการกระจายองค์ความรู้ ขยายความร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ ต่อยอดแคมเปญ“Too Cool to Be Fooled เจ๋ง เกินกว่าจะ เจ๊ง”สู่วงกว้างในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย

 

นี่คือหนึ่งตัวอย่างของภาพความสำเร็จ จากกิจกรรม EDC Pitching ที่แม้จะเริ่มต้นกิจกรรมเป็นปีแรก แต่ก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี นับเป็นก้าวใหม่ที่ชี้ให้เราเห็นว่า การส่งเสริมให้คนไทยรู้ทันภัยออนไลน์ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง

Scroll to Top