ดีอีเอส เผยความคืบหน้าศูนย์ดิจิทัลชุมชน 1,722 แห่ง

Spread the love

 

ดีอีเอสเตรียมเซ็นสัญญาสร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชน พร้อมเผยรายชื่อ 4 บริษัททำหน้าที่ดูแลเช่าอุปกรณ์พร้อมหาบุคลากรประจำศูนย์ดิจิทัล 1,722 แห่ง วงเงินกว่า 5,100 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี เน้นสร้างความเท่าเทียม ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท

 

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 แห่ง วงเงิน 5,100 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ได้บริษัททำหน้าที่ดูแลเช่าอุปกรณ์พร้อมหาบุคลากรประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชนแต่ละแห่งแล้ว จำนวน 4 บริษัท แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

 

กลุ่มที่ 1 เอสเอ คอนซอเตียม ดูแลศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 457 แห่ง วงเงินเสนอต่ำสุดที่ราคา 1,364.5 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 บริษัท อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวิร์คส จำกัด (มหาชน) ดูแลศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 455 แห่ง วงเงินเสนอต่ำสุดที่ราคา 1,341.5 ล้านบาท

 

กลุ่มที่ 3 กลุ่มนิติบุคคล อาร์ยูที ดูแลศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 399 แห่ง วงเงินเสนอต่ำสุดที่ราคา 1,173.6 ล้านบาท และกลุ่มที่ 4 กิจการค้าร่วม เอสพี ดูแลศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 412 แห่ง วงเงินเสนอต่ำสุดที่ราคา 1,237.3 ล้านบาท

 

หลังจากนี้ทั้ง 4 บริษัท ต้องลงนามสัญญากลางเดือน ก.พ.2566 จากนั้นต้องสร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยพื้นที่ตั้งมาจากการคัดเลือกของกระทรวงดีอีเอส เน้นพื้นที่ห่างไกล เช่น โรงเรียน ตชด.สถานศึกษา ได้แก่

 

ศูนย์ที่จัดตั้งในโรงเรียนหรือสถานศึกษา จำนวน 1,066 ศูนย์ (All in One สำหรับงานประมวลผล 12 เครื่อง ประกอบด้วย ศูนย์ที่จัดตั้งในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 500 ศูนย์ แบ่งเป็น ประเภทโรงเรียนขนาดใหญ่ จำนวน 77 ศูนย์ (All in One สำหรับงานประมวลผล 31 เครื่อง) ประเภทโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 423 ศูนย์ (All in One สำหรับงานประมวลผล 12 เครื่อง)

 

ศูนย์ที่จัดตั้งในโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 156 ศูนย์ แบ่งเป็น ประเภทโรงเรียน ตชด. ขนาดใหญ่ จำนวน 5 ศูนย์ (All in One สำหรับงานประมวลผล 31 เครื่อง) ประเภทโรงเรียน ตชด. ขนาดเล็ก จำนวน 151 ศูนย์ (All in One สำหรับงานประมวลผล 12 เครื่อง)

 

สำหรับอุปกรณ์หลักที่ได้รับการสนับสนุนตามโครงการเพื่อการเรียนรู้ด้านดิจิทัลในแต่ละกลุ่ม เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมระบบปฏิบัติการและโปรแกรมจัดการสำนักงาน เครื่องพิมพ์แบบ Multifunction สำหรับพิมพ์ ถ่ายเอกสาร สแกน แฟกซ์เอกสาร

 

กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) โทรทัศน์ Smart TV กระดานอัจฉริยะ (Smart Board) เครื่องมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ เครื่องขยายเสียงพร้อมลำโพงแบบเคลื่อนที่ ชุดสตูดิโอถ่ายภาพ ชุดโต๊ะประชุม บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

 

 

ทั้งนี้ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้จัดตั้งขึ้นตามนโยบายและแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์ดิจิทัล

 

บุคลากรสนับสนุนและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับท้องถิ่น เพื่อลดช่องว่างทางด้านดิจิทัลให้กับชุมชน ให้สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา และด้านอาชีพ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

 

สิ่งสำคัญคือให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท ในกลุ่มคนทุกกลุ่มที่อยู่ในท้องถิ่น เช่น ผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชน เด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนยังทำหน้าที่ในการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข่าวสาร บริการดิจิทัล ให้กลุ่มเป้าหมายในระดับชุมชนได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัล พร้อมที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนคุณภาพชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างโอกาสและรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากในอนาคต

 

“การเลือกให้รูปแบบของศูนย์ดิจิทัลชุมชนเป็นแบบเช่านั้นเพื่อต้องการให้ศูนย์มีผู้ดูแล ไม่ถูกปล่อยร้างเหมือนที่ผ่านมา เพราะไม่มีงบประมาณ ไม่มีผู้ดูแล บริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องดูแลศูนย์ทั้งเรื่องการบำรุงรักษา การหาผู้ดูแลศูนย์ประจำมีเงินเดือนและต้องเป็นผู้นำในการเชิญชาวบ้านมาใช้งาน มีหลักสูตรให้ความรู้ และช่วยให้ชาวบ้านใช้ดิจิทัลให้เกิดรายได้”

 

นอกจากนี้ศูนย์เหล่านี้จะมีสตูดิโอสำหรับถ่ายสินค้า และสอนลงเว็บเพื่อขายออนไลน์อีกทางหนึ่งด้วย โดยหลังจากครบสัญญา 5 ปีแล้ว ทรัพย์สินที่บริษัทให้เช่า ก็อาจจะทำเป็นโครงการซีเอสอาร์บริจาคให้ชุมชนใช้งานต่อไปได้

Scroll to Top